ดิจิทัลและความเป็นส่วนตัว
วิถีชีวิตของคนยุคปัจจุบันล้วนพึ่งพาอาศัยระบบดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือใช้ชีวิตส่วนตัวเราล้วนอาศัยบริการดิจิทัลช่วยให้ชีวิตเราสะดวกสบายมากขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่ข้อมูลส่วนบุคคลรวมถึงข้อมูลองค์กรอาจหลุดรั่วออกไปได้มากขึ้นเช่นกัน ในยุคที่ข้อมูลเป็นสินทรัพย์สำคัญที่สุด รวมถึงการถือกำเนิดของเงินสกุลดิจิทัล เราจึงคุ้นเคยกับคำว่าสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่สิ่งที่ยังพัฒนาตามมาไม่ทันคือแนวคิดแบบดิจิทัล ที่ต้องตระหนักในเรื่องความปลอดภัยและใส่ใจต่อข้อมูลส่วนบุคคลมากกว่านี้ เริ่มจากประการแรกคือต้องเข้าใจว่า “ของฟรีไม่มีในโลก” แม้ว่าบริการดิจิทัลที่เปิดใช้อยู่ในปัจจุบันหลายแพลตฟอร์มจะไม่เสียค่าใช่จ่ายใด ๆ แต่เราต้องเข้าใจว่าบริการเหล่านี้ล้วนได้ “ข้อมูลส่วนบุคคล” ของผู้ใช้เป็นเครื่องแลกเปลี่ยน ไม่ได้ใจดีเปิดให้ใช้ฟรีอย่างที่หลาย ๆ คนคิด ข้อมูลเหล่านี้มีทั้งข้อมูลพื้นฐานของผู้ใช้ รวมไปถึงข้อมูลจากการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งานว่าเข้ามาดูข้อมูลหรือค้นหาสินค้าชนิดใดเป็นพิเศษ ซึ่งระบบเอไอก็จะช่วยวิเคราะห์ได้ว่าตัวตนของเรานั้นเป็นอย่างไร เหมาะกับสินค้าและบริการแบบไหน เราจึงได้เห็นโฆษณาสินค้าที่เรากำลังมีความสนใจอยู่บ่อย ๆ ซึ่งนี่เป็นเรื่องพื้นฐานเท่านั้น เพราะในปัจจุบันแพลตฟอร์มต่าง ๆ เริ่มพยากรณ์ความต้องการของผู้ใช้ได้แม่นยำมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเก็บข้อมูลจากผู้ใช้ได้ละเอียดมากขึ้นเช่นกัน ประเด็นที่สองที่ต้องขบคิดให้ดีก่อนจะสมัครใจใช้แพลตฟอร์มใด ๆ ก็คือความน่าเชื่อถือของแต่ละแพลตฟอร์ม เพราะทุกวันนี้มีบริการดิจิทัลใหม่ ๆ เปิดตัวมากมายแทบจะทุกนาทีซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ทุกแฟลตฟอร์มจะถูกตรอจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนอย่างที่ควรจะเป็น ในโลกแห่งความเป็นจริงเราจึงเห็นแอปพลิเคชันบางตัว ขอสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้มากเกินไป รวมไปถึงบางแอปพลิเคชันที่ตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อเอาข้อมูลจากผู้ใช้ และที่หนักที่สุดคือแอปพลิเคชันที่มิจฉาชีพหลอกให้ผู้ใช้โหลดโดยตรงเพื่อนำเงินออกจากธนาคารตามที่เป็นข่าวครึกโครมในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา ก่อนจะใช้บริการจากแพลตฟอร์มใด ๆ เราจึงต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าแอปพลิเคชันเหล่านั้นมีความจำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลของเรามากเพียงใด…